เพิ่มรูป แก้ไข View : 17,935

10 พระราชวังในประเทศไทย

10 พระราชวังในประเทศไทย

1.พระราชวังจันทรเกษมอยุธยา

โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้

กำแพงและประตูวัง

เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่งนอกกำแพงวัดด้านใน และพบซากอิฐ ในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง

กำแพงและประตูวัง

พลับพลาจตุรมุข

เป็นพลับพลาเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนศาลาใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเสด็จประพาส ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องชามลายครามของจีน อาวุธสมัยโบราณ และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พลับพลาจตุรมุข

พระที่นั่งพิมานรัตยา

เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันแสดงพระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้จำหลักสมัยอยุธยา

พระที่นั่งพิมานรัตยา

 

2.พระนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพงมีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ประตู ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2399 เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน และพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

 

3.วัดอรุณฯ (วัดแจ้ง)กรุงเทพ

เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว

วัดอรุณฯ (วัดแจ้ง)

 

4.พระบรมมหาราชวังกรุงเทพ

รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2325 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ โดยให้ถือ แนวการก่อสร้าง แบบกรุงศรีอยุธยา โดยประกอบด้วยพระมหาปราสาทพระราชมณเฑียรสถานและวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีเนื้อที่ 132 ไร่สร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2328

พระบรมมหาราชวังเปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-11.30 และ 13.00-15.30 น. ชาวต่างประเทศ เสียค่าเข้าชมคนละ 100 บาท ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม

พระบรมมหาราชวัง

 

5.พระจุฑาธุชราชฐานชลบุรี

พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะสีชัง ห่างจากท่าเทววงศ์ลงมาทางใต้ของเกาะ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน มีสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ตามชั้นเนินเขาที่สูง ต่ำลดหลั่นกันอย่างงดงามประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ พระตำหนัก 14 หลัง ศาลา 1 หลัง มีสวนดอกไม้ สระ ธารน้ำ น้ำพุ ถ้ำและหน้าผา ภายในบริเวณมีสภาพ ภูมิทัศน์ที่งดงามตกแต่งตามลักษณะอุทยาน ในพระราชวังของประเทศตะวันตก

พระจุฑาธุชราราชฐาน

 

6.พระที่นั่งอนันตสมาคมกรุงเทพ

เดิมเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระที่นั่งองค์นี้ จัดได้ว่า เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เพราะว่า ในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ รัฐสภาปัจจุบัน ซึ่งอยู่ข้างๆพระที่นั่งองค์นี้ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญๆมากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

7.พระราชวังสนามจันทร์นครปฐม

พระราชวังสนามจันทร์ เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2450 มีหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งซึ่งสร้างแล้วเสร็จ และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่ 27 สิงหาคม 2454 มีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่ง พิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ต่อมาจึงสร้าง เพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชวัง แต่เก่าก่อนดังที่ ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระราชวังสนามจันทร์

 

8.พระรามราชนิเวศน์เพชรบุรี

พระราชวังบ้านปืน"  ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์ สำหรับประทับแรม ในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร การก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452แล้วเสร็จในปี  พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชร-ปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ

พระรามราชนิเวศน์

 

9.พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพชรบุรี

ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ที่ตำบลห้วยเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตรงหลักกม.ที่ 216 เลยหาดชะอำมาเล็กน้อย เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2466 ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง" ลักษณะเป็นพระตำหนักไม้สองชั้น หันหน้าออกสู่ทะเล พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อ ถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสุนทรพิมาน  เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่ง พิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

 

10.พระราชวังจันทน์พิษณุโลก

เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด ในปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดค้นบางส่วนเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้จนกว่าจะมีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีโบราณสถานบางส่วนที่ยังไม่ได้กลบไว้ให้ผู้สนใจได้ชมลบะศึกษาต่อไป

พระราชวังจันทน์

 

ที่เที่ยวแนะนำ